เกาะลิบง จังหวัดตรัง กำลังกลายเป็นจุดหมายปลายทางใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจวิถีชีวิตชุมชนและอาหารท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เชื่อมโยงกับภูมิปัญญาในพื้นที่ เช่น การทำกะปิกุ้งเคยแบบดั้งเดิม
เกาะลิบงมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งเสริมเศรษฐกิจจากการประมงและการท่องเที่ยว แต่ในช่วงที่ผ่านมา ภูมิปัญญาการทำกะปิกุ้งเคยซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวเกาะกำลังเลือนหายไป เนื่องจากชุมชนมองไม่เห็นโอกาสว่าการทำกะปิจะสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง นำโดย ดร.อนันตนิจ ชุมศรี ได้เข้ามาช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์กะปิจากกุ้งเคย ภายใต้โครงการ “การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น”
วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบงโดยคุณรมิดา สารสิทธิ์ หรือจ๊ะเซาะ ได้พัฒนาจนกลายเป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวในเกาะลิบงที่แปรรูปกะปิกุ้งเคยและจำหน่ายเอง โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผลิต “กะปิน้ำเช้า-กะปิน้ำค่ำ” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเกาะลิบงที่มีเพียงแห่งเดียวในไทย
จากเดิมที่ขายกะปิในราคากิโลกรัมละ 120 บาท ได้กำไรเพียงกระปุกละ 10-20 บาท ปัจจุบันสามารถขายได้ในราคากิโลกรัมละ 400 บาทหรือสูงกว่านั้น สร้างรายได้หมุนเวียนให้กับวิสาหกิจชุมชนฯ เดือนละประมาณ 50,000 บาท และยังกระจายรายได้สู่สมาชิกชุมชนผ่านการจ้างงานอีกด้วย
นอกจากการผลิตกะปิคุณภาพสูงแล้ว วิสาหกิจชุมชนฯ ยังต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวเชิงอาหาร โดยเปิด Cooking Class ให้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติได้เรียนรู้และทดลองทำอาหารที่มีกะปิเป็นส่วนผสม เป็นการสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวที่แปลกใหม่และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ การฟื้นฟูภูมิปัญญาการทำกะปิไม่เพียงแต่สร้างรายได้ให้กับชุมชน แต่ยังช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรมและสร้างจุดขายทางการท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ให้กับเกาะลิบง ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน